ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์
รายงานสรุปการเข้าร่วมสัมมนาวิชาการ
เรื่อง ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์
วันที่ 2-3 มิถุนายน 2554 เวลา 08.00 – 16.30 น.
ณ ห้องประชุมปองทิพย์ 1 อาคาร 12 ชั้น 9
อาคารนิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ฯ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต
****************
ดร.มัทนา สานติวัตร นายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน เป็นประธานในการเปิดสัมมนา
- เวลา 09.30 – 10.30 ดร.ทัศนัย วงศ์พิเศษกุล ผู้อำนวยการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ บรรยายในหัวข้อ “แหล่งเรียนรู้มีชีวิตในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ส่วนใหญ่อาจารย์จะพูดถึงเรื่องของอุทยานการเรียนรู้ หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ TK park ว่าTK park มีวิสัยทัศน์คือ “ร่วมสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้” และกำหนดวัตถุประสงค์ ที่เน้นการปลูกฝังและส่งเสริมนิสัยรักการอ่านและการแสวงหาความรู้ในบรรยากาศการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์และทันสมัย เน้นการแสวงหาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฯลฯ โดยการจัดจะมุ่งเน้น ความสะดวกในการเข้าถึงและการใช้บริการ การจัดแบ่งพื้นที่จะจัดตามความสนใจของกลุ่มผู้ใช้บริการ โดยทุกครั้งที่มีการจัดจะทำแบบสอบถามความต้องการของผู้ใช้ก่อนว่าต้องการแบบไหน จัดพื้นที่ให้บริการที่มีบรรยากาศ ผ่อนคลาย อบอุ่น เป็นกันเอง การออกแบบพื้นที่เอื้อต่อการใช้บริการสำหรับผู้พิการ ระบบถ่ายเทอากาศดี และมีแสงสว่างเพียงพอ ถนอมสายตา แนวคิดในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้สำหรับเยาวชน แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ กิจกรรมส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม กิจกรรมส่งเสริมทักษะชีวิต และกิจกรรมส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
- เวลา 10.45-12.00 พบกับ ผศ.ดร.พิมพ์รำไพ เปรมสมิทย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “สมรรถนะของบรรณารักษ์ในสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์” สรุปได้ว่า บรรณารักษ์ ต้องมีความสามารถในการให้บริการเพิ่มคุณค่า โดยการประมวลสารสนเทศสำเร็จรูปเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการ บรรณารักษ์ยุคใหม่ต้องมีบทบาทใหม่ ในยุคการจัดการความรู้ บรรณารักษ์ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี รู้จัก แนะนำได้, เป็นผู้ดูแลความรู้, เป็นบรรณาธิการความรู้นำมาจัดระบบ, เป็นผู้ปฏิบัติงานทำงานกับเครือข่าย, เป็นผู้ออกแบบเว็บไซต์, เป็นผู้เผยแพร่ความรู้ และเป็นนักวิจัยทำวิจัยเป็นฯลฯ สำหรับทักษะนักวิชาชีพสารสนเทศ จะต้องมีทักษะการสื่อสาร เข้าใจความต้องการของผู้ใช้ มีความสามารถในการสื่อสารแนวคิดด้านการจัดการความรู้และประโยชน์ มีทักษะการเจรจาต่อรองกับผู้จัดจำหน่าย/ผู้ขาย มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีทักษะการจัดการ มีความสามารถทางการคิดเชิงวิเคราะห์และมีทักษะในการปรับตัวทางวัฒนธรรม “ห้องสมุดเฉพาะกับการพัฒนาชุมชนและสังคมในยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยคุณสุจิตร สุวภาพ ประธานชมรมห้องสมุดเฉพาะ จะเน้นในการพัฒนาห้องสมุดชุมชน ให้เป็นสังคมในการเรียนรู้สร้างสรรค์ เพื่อสนับสนุนโครงการสร้างห้องสมุด 3 ดี คือ ห้องสมุดในฝันสำหรับให้บริการและห้องสมุดสำหรับดำเนินกิจกรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคมและชุมชนในการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต ยกตัวอย่าง ห้องสมุดมารวย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ห้องสมุดมารวย @ ศูนย์การค้าเอสพละนาด, ห้องสมุดเสริมปัญญา สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย, ห้องสมุดชวลิต ธนะชานัน์ สมาคมธรรมศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์, ห้องสมุดวัดไทยลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกาและหัวข้อสุดท้ายของวันนี้ “Information Economy and Social Network” โดย คุณนภดล วีรกิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายสารสนเทศและบริหารพื้นที่ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ จับประเด็นเด็ดได้ว่า จะทำอย่างไรถึงจะมีลูกค้ามาใช้ห้องสมุดให้มาก ก็เลยใช้วิธีทำให้เขาเข้าใช้ง่าย และทำให้ชัดเจน ก่อนทำกิจกรรมต้องทำแบบสำรวจความสนใจของผู้เข้าใช้บริเวณรอบ ๆ ชุมชนก่อนว่าต้องการให้ห้องสมุดจัดอะไรให้บ้างและจัดแบบไหน เน้นว่าการให้บริการอะไรก็แล้วแต่ถ้ามั่นใจว่าดีไม่ต้องไปเก็บเงิน ถึงเวลาถ้าเขาพอใจเขาจะจ่ายเอง
- เช้าวันที่ 3 มิถุนายน 2554 เดินทางมากับสายฝน ฟังหัวข้อ “แบรนด์ห้องสมุดในสังคมเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดย ผศ. เสริมยศ ธรรมรักษ์ หัวหน้าภาควิชาการสื่อสารแบรนด์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สรุปประเด็นได้ว่า หลักคิดในการสร้างแบรนด์ประกอบด้วย ต้องกล้าเสี่ยง ทำให้คนข้างในองค์กรเชื่อก่อนที่จะสร้างแบรนด์กับคนภายนอก มีจุดยืนที่ชัดเจน รักษาคำมั่นสัญญา สร้างเรื่องราวให้กับแบรนด์ ถ่ายทอดตัวตนของแบรนด์ผ่านจุดสัมผัสแบรนด์ต่าง ๆ แบบ 360 องศา บุคลากรของห้องสมุดต้องทำตัวเป็น Search Engine ที่เยี่ยมยอด เวลาต่อมาเป็นเรื่องของ “PR 2.0 for Library” วิทยากร อาจารย์ณัฐา ฉางซูโต อาจารย์ภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ สรุปประเด็นเด็ดได้ว่า การดำเนินงานประชาสัมพันธ์ โดยเน้นกลยุทธ์และสร้างกระบวนการเชื่อมต่อความสัมพันธ์อย่างมีส่วนร่วมกับกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้อง เปลี่ยนจาก การกระจายข่าวทางเดียว สู่การสร้างความสัมพันธ์ส่วนร่วม โดยใช้สื่อออนไลน์ (Social network ) เช่น Blog 4PR, Twitter, Facebook และYoutube ในการทำประชาสัมพันธ์ “กิจกรรมสร้างสรรค์กับงานห้องสมุด” อาจารย์วีรพงษ์ พวงเล็ก อาจารย์ภาควิชาการโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นำเสนอในเรื่องของเราสามารถสร้างห้องสมุดให้เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมองว่าห้องสมุดยุคใหม่ มีดีต้องอวด โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ และการจัดจะต้องเน้นกิจกรรมในแนวการจัดแปลก..ใหม่…ใหญ่..ดัง อยู่ในความสนใจของสังคม อย่ากลัว และอย่ายึดติด สุดท้ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้การเป็นห้องสมุดสร้างสรรค์ ดำเนินการโดย ดร. มลิวัลย์ ประดิษฐ์ธีระ ผู้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มี คุณสุภาพร สมจิตต์ รักษาการหัวหน้าฝ่ายศูนย์ความรู้ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ, รศ.ดร. น้ำทิพย์ วิภาวิน สาขาวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช , ดร.สถาพร สาธุการ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมการบริการ หอสมุดและคลังความรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปความได้ว่าจะต้องทำให้ห้องสมุดมีชีวิต โดยเน้นที่การสร้างบรรยากาศ เน้นความสวยงาม ของสถานที่ ทำให้ Collection ต่าง ๆ มีความยั่งยืน และมีความรู้ต่าง ๆ มากมาย สะดวกแก่การค้นหา คลิกปุ๊บได้ปั๊บ หาวิธีที่ทำให้คนทำงานแล้วสนุก ทำให้คนอยากทำ ลดขั้นตอนการทำงาน ทำให้เร็ว กระชับ และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ใช้เกิดประโยชน์มากที่สุด
หมายเหตุ:- จากการสัมมนาวิชาการ เรื่อง “ห้องสมุดกับวาระเศรษฐกิจสร้างสรรค์” จัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบและเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (อพส.) ร่วมกับสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ระหว่างวันที่ 2-3 มิถุนายน 2554 ณ ห้องประชุมปองทิพย์ 1 ชั้น 9 อาคาร 12 (นิเทศศาสตร์คอมเพล็กซ์ฯ) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตรังสิต ผู้เข้าร่วมสัมมนา นางสาวิตรี แสงวิริยภาพ